วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

เทคโนโลยี 3G คืออะไร

ความหมายของเทคโนโลยี 3G


3G หรือ Third Generation เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 อุปกรณ์การสื่อสารยุคที่ 3 นั้นจะเป็นอุปกรณ์ที่ผสมผสาน การนำเสนอข้อมูลและเทคโนโลยีในปัจจุบันเข้าด้วยกัน เช่น PDA โทรศัพท์มือถือ Walkman, กล้องถ่ายรูป และ อินเทอร์เน็ต
3G เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาต่อเนื่องจากยุคที่ 2 และ 2.5 ซึ่งเป็นยุคที่มีการให้บริการระบบเสียง และการส่งข้อมูลในขั้นต้น  ทั้งยังมีข้อจำกัดอยู่มาก  การพัฒนาของ 3G ทำให้เกิดการใช้บริการมัลติมีเดีย และส่งผ่านข้อมูลในระบบไร้สายด้วยอัตราความเร็วที่สูงขึ้น
ลักษณะการทำงานของ 3G เมื่อเปรียบเทียบเทคโนโลยี 2G กับ 3G แล้ว 3G มีช่องสัญญาณความถี่ และความจุในการรับส่งข้อมูลที่มากกว่า ทำให้ประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลแอพพลิเคชั่น รวมทั้งบริการระบบเสียงดีขึ้น พร้อมทั้งสามารถใช้บริการมัลติมีเดียได้เต็มที่ และสมบูรณ์แบบขึ้น เช่น บริการส่งแฟกซ์, โทรศัพท์ต่างประเทศ, รับ-ส่งข้อความที่มีขนาดใหญ่, ประชุมทางไกลผ่านหน้าจออุปกรณ์สื่อสาร, ดาวน์โหลดเพลง, ชมภาพยนตร์แบบสั้นๆ
จะเห็นว่า 3G ช่วยให้ชีวิตประจำวันสะดวกสบาย  และคล่องตัวขึ้น โดยโทรศัพท์เคลื่อนที่เปรียบเสมือน คอมพิวเตอร์แบบพกพา,วิทยุส่วนตัว และแม้แต่กล้องถ่ายรูป ผู้ใช้สามารถเช็คข้อมูลในaccount ส่วนตัว เพื่อใช้บริการต่างๆ ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น ตรวจสอบค่าใช้บริการ, แก้ไขข้อมูลส่วนตัวและ ใช้บริการข้อมูลต่างๆ เช่น ข่าวเกาะติดสถานการณ์,ข่าวบันเทิง,ข้อมูลด้านการเงิน,ข้อมูลการท่องเที่ยว และตารางนัดหมายส่วนตัว เป็นต้น

http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/910/14910/images/3G_enterprise.jpg

กว่าจะเป็น 3G
พัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายยุคที่ 3 หรือ 3G (Third Generation) ที่มีการพูดถึงกันอย่างแพร่หลายนั้น แน่นอนว่าจะต้องผ่านยุค 1G และ 2G ดังนั้นมาลองย้อนดูกันว่าเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายในแต่ละยุคสมัยที่กว่าจะพัฒนาเข้าสู่ยุค 3G นั้นมีความเป็นมาและมีลักษณะเช่นไร




เริ่มตั้งแต่ยุคที่ 1 หรือ 1G (First Generation) เป็นยุคของโทรศัพท์แบบเซลลูลาร์ (Cellular Phone) เน้นการให้บริการสื่อสารด้วยเสียงพูดคุยเพียงอย่างเดียว คือ โทรออก-รับสาย เท่านั้น ไม่สามารถส่งข้อมูลในรูปแบบอื่นๆ ได้
เทคโนโลยีการสื่อสารจะใช้สัญญาณอนาล็อก (Analog signal) คือ ใช้สัญญาณวิทยุเป็นตัวส่งคลื่นเสียง โดยใช้คลื่นความถี่ที่ 824-894 เมกะเฮิรตซ์ ใช้หลักการการส่งสัญญาณพื้นฐานแบบ FDMA (Frequency Division Multiple Access) คือใช้วิธีการแบ่งความถี่ออกมาเป็นช่องความถี่ย่อยหลายๆ ช่อง ซึ่งผู้ใช้บริการจะได้รับสิทธิในการเข้าถึงช่องสัญญาณเฉพาะที่ว่าง จึงทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนช่องสัญญาณ การขยายจำนวนเลขหมายทำไม่ได้มาก ตัวอย่างบริการสื่อสารไร้สายยุค 1G คือโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ AMPS (Advanced Mobile Phone Service) ความถี่ที่ใช้คือ 800 เมกะเฮิรตซ์ (megahertz : MHz) เป็นต้น
ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่ไม่สามารถขยายตัวรองรับผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น จึงได้เริ่มมีการพัฒนาเข้าสู่การสื่อสารไร้สายยุคที่ 2 หรือ 2G (Second Generation) ที่เริ่มมีการนำเทคโนโลยีระบบดิจิทัล (Digital Cellular) เข้ามาใช้ โดยมีการบีบอัดสัญญาณเสียงในรูปแบบดิจิทัลให้มีขนาดข้อมูลที่น้อยลงเหลือเพียง 9 กิโลบิตต่อวินาที (kbit/Sec) ต่อช่องสัญญาณ และส่งทางคลื่นไมโครเวฟ
การติดต่อระหว่างโทรศัพท์เคลื่อนที่และช่องสัญญาณมีหลายวิธี เช่น เทคนิค TDMA (Time Division Multiple Access) เป็นการนำช่องความถี่มาแบ่งออกเป็นช่องเล็กๆ และมีการสลับกันใช้ช่องสัญญาณในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้นช่องสื่อสารวิทยุจะมีการแบ่งช่วงเวลาในการใช้งานออกเป็นหลายช่องสลับกันไป ทำให้ ช่องเวลา” (time slot) จึงทำให้ขยายช่องสัญญาณความถี่ได้มากขึ้น โดยมีการติดต่อกับสถานีเบสที่ช่วงความถี่ 890-960 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเซลลูลาร์ชนิด ดิจิทัลเซลลูลาร์ที่ใช้เทคนิคนี้ คือ GSM (Global System for Mobile Communication) ที่เรารู้จักกันนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีเทคนิคที่ชื่อว่า CDMA (Code Division Multiple Access) ซึ่งระบบนี้จะไม่มีการแบ่งช่องความถี่ออกเป็นช่องเวลาเหมือน TDMA แต่ใช้วิธีการแบ่งช่องสัญญาณด้วยรหัส (Code Division) คือผู้ใช้โทรศัพท์จะมีรหัสที่แตกต่างกัน และรหัสจะทำการถอดสัญญาณที่ถูกส่งมาจากสถานีฐาน ทำให้ผู้ใช้แต่ละคนได้รับข้อมูลของตนเอง เทคนิคนี้ทำให้ผู้ใช้บริการเข้าช่องความถี่ได้พร้อมๆ กัน รองรับผู้ใช้บริการจำนวนหลายๆ รายพร้อมกันในเวลาเดียวกัน
การสื่อสารไร้สายยุค 2G นั้น นอกจากจะแก้ปัญหาข้อจำกัดการขยายตัวของผู้บริโภคที่มีความต้องการใช้บริการเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยุค 2G นี้ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นความเฟื่องฟูในการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ว่าได้ เพราะว่าผู้ใช้งานสามารถนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปใช้งานที่ใดก็ได้ในโลกด้วยระบบโทรข้ามประเทศ หรือ International Roaming และที่สำคัญคือการสื่อสารในรูปแบบดิจิทัลยังทำให้โทรศัพท์เคลื่อนที่มีรูปแบบการทำงานที่มากกว่าการสื่อสารด้วยเสียง เพียงโทรเข้าหรือโทรออก แต่ยังพัฒนาให้มีระบบการรองรับการสื่อสารทางข้อมูล (Data) เช่น การส่งข้อความตัวอักษรแบบสั้น (Short Message Service : SMS) ด้วยความเร็วในระดับ 64 กิโลบิตต่อวินาที (Kbit/Sec)
นอกจากนั้นในช่วงปลายของยุค 2G ก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการทำงานของโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้สามารถเชื่อมต่อกับโลกอินเทอร์เน็ตได้ อาทิ เทคโนโลยี GPRS (Generic Package Radio Service) สามารถส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงสุด 171 กิโลบิตต่อวินาที (Kbit/Sec) เทคโนโลยี EDGE(Enhance Data Rates for Global Evolution) สามารถส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงสุด 384 กิโลบิตต่อวินาที (Kbit/Sec) ซึ่งทั้ง GPRS และ EDGE ต่างก็เป็นการพัฒนาบนฐานเทคโนโลยีเดิมทำให้การใช้งานบนอินเทอร์เน็ตยังค่อนข้างช้า ถือเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการหันมาพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้การใช้งานด้านข้อมูลเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว และเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคที่ 3 หรือ 3G (Third Generation)
คุณสมบัติหลักของ 3G คือ
เทคโนโลยี 3G ช่วยทำให้การ Online ทุกที่ทุกเวลาด้วยระดับคุณภาพบริการ Hi-speed เป็นไปได้ง่ายขึ้นและสะดวกขึ้น ด้วยคุณสมบัติหลัก ดังนี้
1. มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับเครือข่าย 3G ตลอดเวลาที่เปิดเครื่องโทรศัพท์ (Always On)
2. การคิดค่าบริการจะเกิดขึ้นเมื่อมีการเรียกใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายเท่านั้น  แตกต่างกับระบบทั่วไปที่จะเสียค่าบริการตั้งแต่ Login เข้าในระบบเครือข่าย
3. อุปกรณ์สื่อสารไร้สายมีรูปแบบอื่นๆ Plamtop, PDA, Laptop และ PC
4. รับส่งข้อมูลในความเร็วสูงรวดเร็ว ทำให้สามารถแสดงภาพกราฟฟิก แสดงแผนที่ตั้ง เป็นแบบอินเตอร์แอคทีฟ ได้อย่างต่อเนื่องไม่มีสะดุด

มาตรฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G
มาตรฐานของระบบ 3G ถูกกำหนดขึ้นโดยสหพันธ์ ITU (International Telecommunication Union) หรือเรียกกันว่า IMT-2000 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำมาตรฐานของระบบ 3G ให้เป็นโครงข่ายทั่วโลก ซึ่งมาตรฐานในการเชื่อมต่อทางคลื่นวิทยุของโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G มีมาตรฐานสำคัญอยู่ 2 ประเภท คือ
1. มาตรฐาน UMTS (Universal Mobile Telecommunications) หมายถึง ระบบการสื่อสารโทรคมนาคมเคลื่อนที่ เป็นมาตรฐานที่ออกแบบมาสำหรับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้นำไปพัฒนาจากยุค 2G ไปสู่ ยุค 3G อย่างเต็มตัว คือ มีพัฒนาการมาจากเครือข่าย GSM, GPRS และ EDGE มีเทคโนโลยีหลักที่มีการยอมรับใช้งานทั่วโลกคือมาตรฐาน Wideband Code Division Multiple Access (W-CDMA) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานด้านการรับ-ส่งข้อมูลที่มากขึ้นของลูกค้า การเข้าถึงเครือข่ายแบบไร้สาย สามารทำได้ด้วยอุปกรณ์หลากหลาย เช่น จากคอมพิวเตอร์ จากเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ระบบยังคงให้การเข้าช่องสัญญาณเป็นแบบ CDMA ซึ่งสามารถบรรจุช่องสัญญาณเสียงได้มากกว่า แต่ใช้แบบแถบกว้าง (wideband) ในระบบนี้จึงเรียบอีกอย่างหนึ่งว่า W-CDMA มีความสามารถในการนำเนอข้อมูล ใช้งานด้านมัลติมีเดีย ส่งผ่านข้อมูลทั้งภาพและเสียงในระบบไร้สายด้วยความเร็วที่สูง เครือข่าย UMTS จะมีความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงถึง 2 Mbit/sec


จุดเด่นของมาตรฐาน W-CDMA
- W-CDMA เป็นมาตรฐานที่มีการรับประกันคุณภาพในการสื่อสารทั้งรูปแบบเสียง (Voice) และ ข้อมูล (Non-Voice) เนื่องจากการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเครือข่าย และใช้ย่านความถี่ที่สูงขึ้น
- W-CDMA เป็นมาตรฐานเปิด ทำให้ผู้บริการ 3G สามารถเชื่อมต่อข้ามเครือข่าย (Roaming) เช่นเดียวกับที่เป็นอยู่ในเครือข่ายยุค 2G นอกจากนั้นยังสามารถเขื่อมต่อเพื่อการใช้งานข้ามมาตรฐาน 2G/2.5G/2.75G ได้ในทันที โดยผู้ใช้บริการเพียงมีอุปกรณ์สื่อสารแบบ Dual Mode เท่านั้น
- W-CDMA เป็นมาตรฐานสื่อสารไร้สายชนิดเดียวที่มีรูปแบบการทำงานแบบแถบความถี่กว้าง (Wideband) อันนำมาซึ่งประสิทธิภาพในการสร้างพื้นที่ให้บริการที่กว้างใหญ่ ไปพร้อม ๆ กับความสะดวกในการเพิ่มขยายขีดความสามารถในการรองรับข้อมูลข่าวสาร
- ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบรับส่งข้อมูลความเร็วสูง HSDPA (High Speed Downlink Packet Access) ซึ่งสามารถส่งข้อมูลได้ความเร็ว 1.8, 3.6, 7.2, 14.4 Mbps

2. มาตรฐาน CDMA2000 (Code Division Multimedia Access 2000) เป็นการพัฒนาเครือข่าย CDMA ให้รองรับการสื่อสารในยุค 3G รับผิดชอบการพัฒนาเทคโนโลยีหลักคือ CDMA2000-3xRTT ที่มีศักยภาพเทียบเท่า CDMA2000 ใช้เทคโนโลยีที่มีแนวคิดคล้ายกับ W-CDMA แต่จะมีวิธีการเลือกใช้การเข้ารหัสที่แตกต่างกัน มาตรฐาน CDMA2000 ที่ใช้งานในปัจจุบันเรียกว่า CDMA2000 1X หรือ 1XRTT (1 เท่าของ Radio Transmission Technology = 1.25MHz) มีอัตราเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุที่ 153.6 kbps ข้อดีของระบบ CDMA2000 คือ ใช้ความถี่กว้างเพียง 1.25 MHz และสามารถนำไปใช้ได้ในคลื่นความถี่ต่างๆ กัน เช่น 800 MHz, 1800 MHz และ 1900 MHz โดยไม่จำกัดความถี่ ลดความยุ่งยากในการปรับสมดุลการกระจายการทำงาน (load-Balancing) รวมการสื่อสารด้วยข้อมูลและเสียงให้สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นบนระนาบเดียวกัน และทำให้อุปกรณ์สามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งเสียงและข้อมูล


บทบาทของเทคโนโลยี 3G ในด้านต่างๆ
เทคโนโลยี 3G นั้นมีจุดเด่นอีกหลายอย่าง ซึ่งจุดเด่นอย่างหนึ่งคือ สามารถส่งและรับข้อมูลในเวลาเดียวกัน ด้วยความเร็วสูง ทำให้ตรงนี้เองเกิดการนำมาตรฐาน 3G ไปประยุกต์ในด้านต่างๆ อย่างมากมาย โดยเราจะขอแยกตัวอย่างการประยุกต์ใช้ออกเป็นด้านๆ ดังนี้

1. ด้านการศึกษา
เทคโนโลยี 3G กับการศึกษา สามารถประยุกต์ใช้สำหรับการศึกษาทางไกลผ่าน video conference เป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ทั้งเป็นการเอื้อประโยชน์ในการศึกษาต่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการศึกษาของชาติให้มีความหลากหลายทั้งในรูปแบบการเรียนการสอนโดยไม่จำกัดวิธีการ สถานที่ ตลอดจนช่วงเวลาในการเข้าถึงการเรียนการสอนอีกด้วย

2. ด้านการสนทนา
เทคโนโลยี 3G ที่นำมาประยุกต์ในด้านการสนทนา สามารถพัฒนาระบบตอบรับอัตโนมัติ Interactive Voice Response (IVR) เช่น  call center  ซึ่งเมื่อก่อนจะมีแต่เสียงเมื่อต้องการฟังข้อมูลต่างๆ แต่สำหรับในยุค 3G นั้น ลักษณะการให้บริการ IVR นั้นจะถูกเปลี่ยนเป็น Interactive Voice and Video Response (IVVR) หรือ Video Portal ลักษณะการใช้งานจะคล้ายกับตัว Video Call ทำให้การบริการจะเพิ่มรูปแบบของวิดีโอคอนเทนต์เข้าไป ซึ่งการประยุกต์แบบนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับหลายธุรกิจ อาทิเช่น การโทรเข้าไปจองตั๋วภาพยนตร์ ก็สามารถดูตำแหน่งของที่นั่งผ่านหน้าจอโทรศัพท์ได้, ดูตัวอย่างห้องพักของโรงแรม เป็นต้น

3. ด้านการโฆษณา
สำหรับการโฆษณาบนโลก Internet นั้นได้เกิดขึ้นมานานแล้ว และได้มีผู้นำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาในรูปแบบ SMS, Banner เป็นต้น และเมื่อมาตรฐาน 3G เข้ามาถึง จะทำให้เกิดการโฆษณาในรูปแบบใหม่ เช่น Live TV, Video-On-Demand เป็นต้น โดยการที่ผู้บริโภคได้เห็นผลิตภัณฑ์ ได้ยินเสียง หรือในบางครั้ง อาจจะแสดงเป็นในรูปแบบ Catalog ให้เลือกกดตามหมวดสินค้าที่ต้องการ ทำให้ผู้บริโภคไม่เบื่อโฆษณา เหมือนๆ เก่า ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตด้วย

4. ด้านธุรกิจ
เทคโนโลยี 3G ช่วยให้เราสามารถทำงานเหมือนอยู่ในที่ทำงานได้ตลอดเวลาด้วยการติดต่อทางอีเมล์ไร้สาย การดาวน์โหลดไฟล์จากอินเทอร์เน็ต การเชื่อมต่อเข้ากับระบบเครือข่ายภายในองค์กรด้วยอุปกรณ์สื่อสารไร้สายที่รองรับ 3G ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลา ในด้านการประยุกต์กับธุรกิจต่างๆ นั้น เมื่อมียุค 3G จะทำให้เกิดความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว ความปลอดภัย และประสิทธิภาพต่างๆ มากขึ้น เช่น ธุรกิจขนส่ง โลจิสติกส์ โดยนำเทคโนโลยี 3G มาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีทางด้านการค้นหาตำแหน่ง (Location-Based-Service) อาทิเช่น Global Positioning System (GPS) ทำให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้ว่า ขณะนี้รถของบริษัทกำลังขับออกนอกเส้นทางหรือไม่ การตรวจสอบและควบคุมรถขนส่งจากระยะไกลในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น เพราะ 3G สามารถส่งและรับข้อมูลด้วยความเร็วสูงแบบ Real-Time ได้ ไม่เหมือนกับยุค 2G ซึ่งไม่สามารถส่งข้อมูลได้รวดเร็วเท่า 3G
โรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ระบบเครื่องมือวัดระยะไกล โดยต้องรับผลต่างๆ จากอุปกรณ์ที่มีระยะทางไกลๆ อาทิเช่น ระดับอุณหภูมิ, ระดับความดัน เป็นต้น ซึ่งรูปแบบดังกล่าวคือระบบที่มีชื่อว่า Supervisory Control and Data Acquisition (SCADA) นั่นเอง ธุรกิจร้านค้า ที่ต้องใช้ Point-Of-Sales (POS) เพื่อรองรับการชำระเงินแบบออนไลน์ การชำระเงินผ่านบัตรเครดิตต่างๆ ซึ่งบางแห่งอาจไม่สะดวกที่ต้องเชื่อมต่อผ่านโครงข่ายแบบมีสาย ก็จะทำให้สามารถบริการได้และที่สำคัญมีความเร็วมากกว่าเก่า การผิดพลาดน้อยกว่าเก่า และประสิทธิภาพก็ดีกว่า

5. ด้านการแพทย์
ในทางการแพทย์นั้น ในประเทศไทยเองก็มีโครงการสาธิตที่ร่วมกับ พอ.สว. ที่พังงา เป็นการนำเทคโนโลยี Telehealth มาใช้ในการแพทย์ ซึ่งรูปแบบ ของ Telehealth คือเรื่องของอุปกรณ์วัดค่าตัวเลขระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่บนส่วนต่างๆ ของร่างกายเรา เพื่อส่งข้อมูลที่ต้องการความละเอียดแม่นยำสูง เช่น คลื่นหัวใจคลื่นสมอง พวกนี้ต้องอาศัยการส่งสัญญาณแบบ realtime และต้องการระบบการสื่อสารที่มี bandwidth ในการรับส่งข้อมูลที่กว้าง รวมถึงมีความเร็วสูง ซึ่งสามารถทำได้ในระบบมาตรฐาน 3G

โดยสรุปแล้วจะเห็นว่าเทคโนโลยี 3G สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบ และประโยชน์ให้กับหลายๆ ฝ่าย ทั้งผู้ใช้ทั่วไป ภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการด้านบันเทิง ผู้ประกอบการด้านสื่อโฆษณา และอื่นๆ อีกมากมาย ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการเองว่าจะเลือกใช้ในรูปแบบไหน ซึ่งเทคโนโลยี 3G จะช่วยให้คนในยุค 3G มีชีวิตที่มีคุณภาพขึ้น เนื่องจากสามารถบริหารเวลาได้ดีขึ้น


ที่มา:       http://watmountain.blogspot.com/2011/08/3g.html
http://www.vcharkarn.com/vblog/115368/5


จัดทำโดย นางสาวสุวรรณี ผิวศรี
รหัสนักศึกษา 5204029655
วิชา ECT 3503 การใช้สื่อการเรียนรู้
ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555